จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ระบุว่า แต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่มากถึงวันละ 381 คน หรือ 139,206 คนต่อปี และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี
5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในชายไทย ได้แก่
1. มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี
เป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30- 70 ปี โรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ ทำให้กว่าจะได้รับการวินิฉัยก็มักจะอยู่ในท้ายโรคและไม่สามารถรับการรักษาได้ทัน ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุด มะเร็งตับมีสาเหตุหลักได้แก่ การได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบB/C การดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับสารพิษอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) การรับยาบางชนิด และพันธุกรรม เป็นต้น
2. มะเร็งปอด
เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้ชายไทย สาเหตุหลักของมะเร็งปอดมาจากการสูบบุหรี่ หรือรับควันบุหรี่ โดยอาการมักมีการไอเสมหะหรือไอมีเลือด เจ็บหน้าอก หายใจดังและถี่ ความอยากอาหารลดลง เป็นต้น
3. มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัยโดยเฉพาะคนทำงาน เริ่มต้นจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก ที่เรียกว่า โพลิป (Polyp) เป็นเซลล์เนื้อผิดปกติ ที่งอกจากผนังลำไส้ มีขนาดประมาณปลายนิ้วก้อย เนื่องจากขนาดที่เล็กของติ่งเนื้อ จึงทำให้ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ในการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งลำไส้
4. มะเร็งต่อมลูกหมาก
พบบ่อยในชายอายุเฉลี่ยประมาณ 70 ปี เกิดจากเซลล์ต่อมลูกหมากเจริญเติบโตผิดปกติและรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนมะเร็งอุดตันทางเดินปัสสาวะในที่สุด อาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณของโรคต่อมลูกหมาก ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะติดขัด , ปัสสาวะมีเลือดปน
5. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของระบบน้ำเหลือง และความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว โดยทั้งสองระบบเป็นเรื่องของภูมิคุ้มกันเหมือนกัน สาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ทั้งนี้ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะเกิดกับอวัยวะต่างๆ ของระบบต่อมน้ำเหลือง ได้แก่ ม้าม ไขกระดูก ต่อมทอนซิล และต่อมไทมัส
5 อันดับโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิง
จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติรายงานว่า โรคมะเร็งที่พบในผู้ป่วยรายใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรก ของผู้หญิงไทย ได้แก่
1. มะเร็งเต้านม
เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย โดยประมาณ 90% ของมะเร็งเต้านมเกิดจากต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม ส่วนมากจึงจะพบในหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
2. มะเร็งปากมดลูก
มีโอกาสเกิดได้กับผู้หญิงทุกคนที่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อผ่านการสัมผัสทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์และไม่ใช่เพศสัมพันธ์
3. มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรค แต่ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งนี้ ได้แก่ อายุ โดยเฉพาะผู้ที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และพันธุกรรมมะเร็งลำไส้โดยตรง
4. มะเร็งปอด
ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีอาการแสดงในระยะแรก แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จากการสำรวจพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดมากกว่า 85% เกิดจากการสูบบุหรี่ และอีก 30% มาจากผู้ใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งชนิดนี้ เช่น มลพิษทางอากาศ
5. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
มะเร็งชนิดนี้เติบโตได้โดยการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจน ดังนั้นภาวะใดก็ตามที่ทำให้มีฮอร์โมนเหล่านี้มากผิดปกติก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้ด้วย อาการของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก คือ ประจำเดือนผิดปกติ เช่น มาบ้างไม่มาบ้าง มานานกว่าปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดทั้งที่หมดประจำเดือนแล้ว
ซึ่งผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเป็นได้ ถ้ารู้จักการป้องกันโรคก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งนั้นไม่สามารถระบุชัดเจน เนื่องจากแต่ละบุคคลมีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นและทำให้เกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นมีอยู่หลายปัจจัย อาทิ
- อายุ / กรรมพันธุ์ / ความไม่สมดุลทางฮอร์โมน
- การรับประทานอาหาร เช่น การบริโภคอาหารไขมันสูง ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- การสูบบุหรี่ (มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด)
- การใช้สารเคมีเป็นประจำ
- ขาดการออกกำลังกาย
7 สัญญาณอันตรายเสี่ยง “โรคมะเร็ง”
- ระบบขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลง
- แผลที่ไม่รู้จักหาย
- ร่างกายมีก้อนตุ่ม
- การกลืนอาหารลำบากติดขัด/น้ำหนักลดปกติ
- ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล
- ไฝ หูดที่เปลี่ยนไป
- ไอและเสียงแหบจนเรื้อรัง >2-4 สัปดาห์
การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง มีด้วยกันหลายวิธี
- งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มือสองบ่อยๆ จะส่งผลร้ายโดยตรงต่อปอด และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อตับ และทั้งสองพฤติกรรมยังส่งผลเสียต่ออวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น ช่วยรักษาสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย ออกกำลังกายให้ได้วันละ 30-45 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้
- อย่าละเลยอาการเจ็บปวดต่างๆ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดกับร่างกายของตนเองอยู่เสมอ หากมีอาการเจ็บปวดบริเวณต่างๆ ของร่างกายต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย หรือหากร่างกายปกติดีก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกปี หากมีความเสี่ยงหรือเมื่อถึงวัยอันควร ก็ควรค้นหาความเสี่ยงโรคมะเร็งเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง หรือตามคำแนะนำของแพทย์
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด อาหารปิ้งย่าง ไหม้เกรียม หมักดอง แปรรูป เน้นการทานผักผลไม้ที่ไม่หวาน และดูแลระบบขับถ่ายให้ดี
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีอันตราย หากจำเป็นต้องทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำการเกษตร หรืออยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นควันเป็นประจำ ควรแต่งกายให้มิดชิด และใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นในการปกป้องร่างกายและการสูดดม
บทความโดยแพทย์หญิงสมใจ ฉันชัยรุ่งเจริญ แพทย์ผู้ชำนาญชาญการด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลเกษมราษฎร์อินเตอร์ เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์
แพ็กเกจแนะนำ
บทความสุขภาพอื่นๆ
VDO ความรู้สุขภาพ
บทความโดย
แพทย์หญิงสมใจ ฉันชัยรุ่งเจริญ
แพทย์ผู้ชำนาญชาญการด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลเกษมราษฎร์อินเตอร์ เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมาย
แผนกอายุรกรรม ชั้น 2
โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์
โทร.02-594-0020 ต่อ 1219 , 1220